พืชสมุนไพรไล่แมลง

คนไทยรู้จักนำสมุนไพรในป่ามาใช้ประโยชน์มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคน สืบทอดกันมาเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ทรงคุณค่า ต่อมามีการศึกษาวิจัยสมุนไพรในทางลึก ส่งผลให้เกิดการนำมาใช้ระโยชน์อย่างกว้างขวาง ความสำคัญของสมุนไพรมิใช่เพียงมีค่าต่อการส่งเสริมสุขภาพเท่านั้น หากแต่ยังมีประโยชน์ทางเกษตรกรรมอย่างมาก สามารถใช้ป้องกันและกำจัดโรค แมลง ศัตรูพืช ได้ดีไม่แพ้สารเคมี และยังมีข้อดีมากกว่าทั้ง ประหยัด และปลอดภัย ไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการใช้สมุนไพรในการเกษตร น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันและอนาคต

สมุนไพรแต่ละชนิดมีผลต่อศัตรูพืชต่างๆ กันออกไป เพื่อการนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องศึกษารายละเอียด รู้จักวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ของสมุนไพรแต่ละชนิดดังต่อไปนี้

ขี้เหล็ก
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: ด้วงถั่วเขียว ป้องกันและกำจัดแมลงในโรงเก็บ
วิธีใช้: นำใบอ่อน ๑ ขีด บดให้ละเอียดแล้วคลุกเมล็ดถั่วเขียวจำนวน ๑ กก. สามารถป้องกันและกำจัดแมลงในโรงเก็บได้จำพวกแมลงปีกแข็ง ด้วง ต่างๆ

ข่า
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: แมลงวันทอง
วิธีใช้: นำเหง้าแก่สดหรือตากแห้ง บดเป็นผงละเอียด แล้วแช่น้ำพอท่วมข่าค้างไว้ ๑ คืน กรองด้วยผ้าขาวบางนำไปฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงวันทองไม่ให้มาวางไข่

ขิง
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: แมลงวันทอง
วิธีใช้: นำเหง้าขิงแก่มาทุบ หรือบดให้ละเอียด แล้วนำไปแช่น้ำ ๑ ลิตร (น้ำ ๑ ขวดโค้กลิตร) ค้างไว้ ๑ คืน นำน้ำที่ได้จากการกรองเอากากออก ผสมกับน้ำสะอาดอีก น้ำครึ่งปี๊บ นำไปฉีดพ่นแปลงผักผลไม้

คูน
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม มอดแป้ง ด้วงต่างๆ
วิธีใช้: นำฝักคูนมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วน ฝักคูน ๑ กก. ต่อ น้ำหนึ่งปี๊บ ทิ้งไว้ ๓-๔ วัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงผัก สามารถฆ่าหนอนในแปลงผักผักได้

ดาวเรือง
 ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: เพลี้ยกระโดด เพลี้ยต่างๆ หนอนใยผัก หนอนกัดกินผัก แมลงหวี่ขาว แมลงวัน ด้วงต่างๆ
วิธีใช้:
วิธีที่ ๑. นำดอกดาวเรืองมาคั้น กรองเอาแต่น้ำ ให้ได้ปริมาณ ๑๕ ลิตร(น้ำ๑ใน๓ ของปี๊บ) ใช้กำจัดหนอนในแปลงผัก หนอนกัดกินผัก แมลงหวี่ขาวได้ผลดี
วิธีที่ ๒. น้ำคั้นดอกดาวเรือง น้ำครึ่งปี๊บ ก่อนนำไปใช้ผสมน้ำสบู่ ๑ ช้อนโต๊ะ เพื่อเป็นสารจับใบ ใช้กำจัดเพลี้ยต่างๆ ได้ผลดี
วิธีที่ ๓. ปลูกต้นดาวเรืองร่วมกับการปลูกพืชหลัก สามารถป้องกันหนอนและเพลี้ยต่างๆ

ตะไคร้
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: ใช้ในการดับกลิ่นเหม็น ไล่แมลง ยุง ไร
วิธีใช้: นำตะไคร้ทั้งต้นมาบดหรือตำ จากนั้นนำไปวางบริเวณที่ต้องการกำจัดกลิ่น เช่น ตามมุมห้อง หรือตู้เสื้อผ้า ช่วยในการไล่แมลง และยุง จากบริเวณที่ต้องการได้

ตะไคร้หอม
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: แมลงสาบ หนอนกัดกินผัก หนอนใยผัก ไล่ยุง
วิธีใช้: นำเหง้าและใบตะไคร้หอม มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบดให้ละเอียดประมาณ ๕ ขีด นำมาผสมน้ำครึ่งปี๊บ แช่ทิ้งไว้ ๑ วัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ผสมสารจับใบเช่น สบู่หรือแชมพู ฉีดพ่นกำจัดหนอน

น้อยหน่า
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยต่างๆ หนอนกัดกินผัก หนอนใยผัก ด้วงเต่าทอง แมลงวันทอง
วิธีใช้: ใช้เมล็ดน้อยหน่าแห้ง ๑ กก. ตำให้ละเอียด แล้วแช่น้ำครึ่งปี๊บ ทิ้งไว้ ๑ วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำก่อนใช้ผสมน้ำสบู่ ๑ ช้อนโต๊ะ (๑ ช้อนแกงทานข้าว) แล้วใช้ฉีดพ่นทุกๆ ๗-๑๐ วัน ช่วงเวลาเย็น

บอระเพ็ด
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยต่างๆ หนอนกอ (นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดโรคข้าวตายพราย โรคยอดเหี่ยว โรคข้าวลีบได้อีกด้วย
วิธีใช้:
วิธีที่ ๑. ใช้เถาบอระเพ็ด ๕ กก. สับเป็นชิ้นเล็กๆ ทุบให้แหลก แช่น้ำ ๑ ปี๊บ แช่ทิ้งไว้ ๒ ชั่วโมง แล้วเอาน้ำไปฉีดในแปลงเพาะกล้า
วิธีที่ ๒. ใช้เถาบอระเพ็ด ๑ กก. สับหว่านปนในแปลงเพาะกล้าขนาด ๔ เมตร
วิธีที่ ๓. ใช้เถาบอระเพ็ดตัดเป็นท่อนๆ ขนาด ๕ นิ้ว ปริมาณ ๑๐ กก. หว่านในนาข้าวพื้นที่ ๑ ไร่ หลังปักดำหรือหว่านข้าวแล้ว ๗ วัน และทำอีกครั้งหลังข้าวอายุ ๒ เดือน ใช้ควบคุมหนอนกอ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

พริก
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: มด เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อกะหล่ำ ด้วงเต่า ด้วงต่างๆ แมลงในโรงเก็บ โรคใบด่าง ไวรัสโรคใบหดของผัก
วิธีใช้:
วิธีที่ ๑. นำพริกแห้ง ๑ ขีด ต้มในน้ำ ๑ ลิตร (๑ ขวดโค้กลิตร) ให้เดือด แล้วนำพริกมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปละลายในน้ำที่ต้ม กรองเอาแต่น้ำ แล้วเติมน้ำสะอาดลงไปอีก ๑ ปี๊บ ก่อนจะนำไปใช้ผสมสารจับใบ เช่น น้ำสบู่ แชมพู สามารถฉีดพ่นได้ทุกๆ ๗ วัน การนำไปใช้ควรทดลองแต่น้อยๆ ก่อน เพราะสารละลายที่เข้มข้นเกินไป จะทำให้ใบไหม้ หากพืชเกิดอาการดังกล่าว ให้ผสมน้ำเพื่อให้เจือจาง ควรใช้อย่างระมัดระวังอาจเกิดแสบร้อนตามผิวหนังผู้ใช้
วิธีที่ ๒. ใช้น้ำคั้นจากใบและดอกของพริก ไปฉีดพ่นก่อนที่จะมีการระบาดของโรคใบด่างโรคใบหดของผักต่างๆ สามารถป้องกันพืชก่อนเป็นโรคได้ดี

มะละกอ
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: โรคราสนิม โรคราแป้ง
วิธีใช้: นำใบมะละกอมาหั่นประมาณ ๑ กก. แล้วนำไปผสมกับน้ำ ๑ ลิตร จากนั้นให้คั้นเอาน้ำ และกรองโดยใช้ผ้าขาวบาง แล้วเติมน้ำ ๔ ลิตร เติมสบู่ลงไป ๑ ช้อนกาแฟละลายให้เข้ากัน แล้วนำไปฉีดพ่น

ยาสูบ
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: โรครา ด้วงต่างๆ หนอนกอ หนอนชอนในใบหรือชอนใบ หนอนผีเสื้อ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และไรต่างๆ
วิธีใช้: ใช้ยาสูบ ๑ กก. ต่อน้ำ ๒ ขวดโค้กลิตร แช่ไว้ ๑ คืน กรองเอาแต่น้ำแล้วเติมลงไปอีก ๓ ปี๊บ ฉีดพ่นอย่าให้ละอองยาถูกตัว ฉีดพ่นแล้ว ๓-๔ วัน จึงสามารถเก็บไปบริโภคได้

ยูคาลิปตัส
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: หนอน แมลงวัน
วิธีใช้: นำใบยูคาลิปตัสมาบดให้ละเอียด และหมักกับน้ำ ในสัดส่วน ใบยูคาลิปตัส ๒ กก. ต่อน้ำครึ่งปี๊บ หมักทิ้งไว้ ๑ วัน กรองเอาสารละลายไปฉีดพ่น หรือเทราดบริเวณที่มีหนอน แมลงวัน

สะเดา
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: ตั๊กแตน หนอนชอนใบ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดด แมลงหวี่ขาว หมัดผัก หนอนกัดกินผัก หนอนกระทู้ หนอนกอ หนอนบุ้ง แมลงในโรงเก็บ
วิธีใช้:
วิธีที่ ๑. โรยเมล็ดสะเดาบดตามแปลงผัก
วิธีที่ ๒. นำเมล็ดสะเดา ๑ กก. บดให้ละเอียด ห่อผ้าแช่น้ำ ๑ ปี๊บ แช่ทิ้งไว้ ๑ คืน ก่อนใช้ผสมน้ำสบู่ ๑ ช้อนโต๊ะ นำไปฉีดพ่นทุกๆ ๗ วัน ในตอนเย็น
วิธีที่ ๓. นำเมล็ดและใบสะเดา เหง้าข่าแก่ ตะไคร้หอม อย่างละ ๒ กก. สับให้ละเอียด แล้วตำหรือบดรวมกัน แช่น้ำ ๑ ปี๊บ แช่ทิ้งไว้ ๑ คืน แล้วกรองเอาหัวเชื้อที่ได้ ผสมน้ำเปล่า ๑ ปี๊บ ต่อน้ำยา ๐.๕ ลิตร(ครึ่งขวดโค้กลิตร) ฉีดพ่นทุกๆ ๗ วัน ในตอนเย็น
วิธีที่ ๔.นำเมล็ดสะเดาแห้ง ที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ด และเนื้อเมล็ด มาบดให้ละเอียด แล้วนำผงเมล็ดสะเดามาหมักกับน้ำ ในอัตราส่วน ๑ กก. ต่อน้ำ น้ำ ๑ ปี๊บ โดยใช้ผงสะเดาใส่ไว้ในถุงผ้าขาวบาง แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ๑ วัน ใช้มือบีบถุงตรงส่วนของผงสะเดา เมื่อจะใช้ก็ยกถุงผ้าออก บีบถุงให้น้ำในผงสะเดาออกมาให้หมด ก่อนใช้นำน้ำที่ได้ผสมน้ำสบู่หรือแชมพู แล้วนำไปฉีดพ่น

โหระพา
ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: เพลี้ยอ่อน หนอนแมลงวัน หนอนเจาะหัวมันเทศ แมลงวัน
วิธีใช้: นำน้ำมันหอมระเหยโหระพา ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ ๑ ลิตร ใช้ฉีดพ่นพืชผัก


ขอขอบคุณ
วารสารส่งเสริมการเกษตร: https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2016/10/สมุนไพรเพื่อการเกษตร-สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช.pdf

ยอดผู้เข้าชมเว็บไซด์ Web Hits